บทที่  1
บทนำ

1.1   ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
        ปัจจุบันรถยนต์ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวันของคนเรา และผู้ใช้รถต่างก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์น้ำมันเชื้อเพลิง
ที่มีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงของรถยนต์ที่ใช้กันอยู่ทั่วไปด้วยสาเหตุนี้จึงส่งผลให้ผู้ใช้
รถยนต์ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น  จึงทำให้มีการนำระบบแก๊สมาติดตั้งกับเครื่องยนต์เพราะเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งในการใช้พลังงานทดแทน เนื่องจากราคาแก๊สมีราคาที่ถูกกว่าราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจนทำให้มีแนวโน้มว่าจะมีการติดตั้งแก๊สในรถยนต์เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆแก๊สที่นิยมใช้เป็น
เชื้อเพลิงในรถยนต์ปัจจุบันได้แก่ แก๊สแอลพีจีและแก๊สเอ็นจีวีแต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแก๊สเอ็นจีวีสำหรับเครื่องยนต์สูงกว่าแก๊สแอลพีจีและ
สถานีบริการเติมแก๊สแอลพีจี  มีจำนวนที่แพร่หลายครอบคลุมพื้นที่มากกว่า จึงทำให้การติดตั้งแก๊สแอลพีจีในรถยนต์จึงเป็นที่นิยมมากกว่า
ในการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส.) พุทธศักราช 2546  สาขาวิชาเทคนิคยานยนต์ ในรายวิชางานซ่อม
เครื่องยนต์ ของวิทยาลัยเทคนิคพะเยาผู้ศึกษาได้วิเคราะห์เนื้อหาจากคำอธิบายรายวิชาแล้วพบว่ามีเนื้อหามากซึ่งสามารถจำแนกหัวข้อเรื่องได ้ 
ดังนี้ศึกษาและปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อขัดข้องของเครื่องยนต์โดยการใช้ประสาทสัมผัสและใช้เครื่องทดสอบการซ่อมและปรับปรุงสภาพเครื่องยนต์ ทดลองติดเครื่องยนต์ ทดสอบสมรรถนะของเครื่องยนต์หลังการซ่อมและปรับปรุงสภาพแล้วโดยใช้เครื่องทดสอบชนิดต่างๆจากประสบการณ์ด้าน
การสอนของผู้ศึกษาที่ผ่านมาพบว่าในหน่วยการเรียนด้านการปฏิบัติการวิเคราะห์ข้อขัดข้องของเครื่องยนต์ และการปรับแต่งเครื่องยนต์หลังการซ่อม  
ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติเพียงแต่เครื่องยนต์แก๊สโซลีนและเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้ผู้เรียนขาดความรู้และทักษะที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์แก๊สแอลพีจี ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้แก๊สเป็นเชื้อเพลิงชนิดหนึ่งที่มีใช้กันมากในปัจจุบันและเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้เรียนจะต้องได้ฝึกปฏิบัติให้เข้าใจจนสามารถ
ปฏิบัติงานได้จริงตามหลักสูตรผู้ศึกษาจึงมีความสนใจที่จะสร้างและหาประสิทธิภาพชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจี    เพื่อใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนภาคปฏิบัติวิชางานซ่อมเครื่องยนต์ ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พุทธศักราช 2546 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาโดยใช้ชิ้นส่วนและอุปกรณ์ของระบบแก๊สแอลพีจี มาเป็นส่วนประกอบและติดตั้งเข้ากับเครื่องยนต์

1.2   วัตถุประสงค์ของการศึกษา
       1.2.1  เพื่อสร้างและหาประสิทธิภาพชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจี
       1.2.2  เพื่อใช้ชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจีในการเรียนการสอนวิชางานซ่อมเครื่องยนต์ วิชางานซ่อมเครื่องยนต์แก๊สโซลีน          วิชางานปรับแต่งเครื่องยนต์
       1.2.3  เพื่อใช้ชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจีเป็นต้นแบบและพัฒนาเพื่อใช้ในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

1.3   สมมติฐาน
       ชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจีที่สร้างขึ้นต้องผ่านเกณฑ์ ประเมินคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญไม่ต่ำกว่า 3.50  (ในระดับคุณภาพดี)

1.4   ขอบเขตของการศึกษา
       1.4.1  ชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจี ใช้ในการเรียนการสอนวิชางานซ่อมเครื่องยนต์แก๊สโซลีน  ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พุทธศักราช 2546  สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา  
       1.4.2  ชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจี ประกอบด้วยเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงจำนวนสูบ 4 สูบ สามารถติดเรื่องยนต์ได้ทั้งน้ำมันและแก๊สแอลพีจีระบบฉีด
       1.4.3  การศึกษาในครั้งนี้ใช้การประเมินคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญจำนวน  9 ท่าน โดยมีประสบการณ์ทางด้านการสอนหรือทำการติดตั้งแก๊สในรถยนต์มาแล้ว 5 ปีขึ้นไป
    
1.5   ข้อตกลงเบื้องต้น
      1.5.1   ผู้เรียนที่จะใช้ชุดฝึกปฏิบัตินี้จะต้องผ่านการศึกษาวิชางานระบบฉีดเชื้อเพลิงอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน
      1.5.2   อุปกรณ์ระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจีที่ติดตั้งกับชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์นี้ใช้ ECU และหัวฉีดแก๊ส ยี่ห้อ VERSUS 

1.6   นิยามศัพท์เฉพาะ
      1.6.1  ชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดชเอเพลิงแอลพีจี หมายถึง ชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบหัวฉีดและติดตั้งระบบ
เชื้อเพลิงแก๊สแอลพีจี เพื่อใช้ประกอบ การอธิบายหลักการทำงานการตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์เพื่อวิเคราะห์ปัญหาก่อนซ่อม ฝึกปฏิบัติการติดเครื่องยนต์  การปรับแต่งเครื่องยนต์ 
      1.6.2    การสร้าง  หมายถึง  การนำเอาชิ้นส่วนของระบบแก๊สแอลพีจี มาประกอบติดตั้งเข้ากับเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีด  ประกอบกันบนแท่นเครื่องยนต์ที่ออกแบบไว้ สำหรับการฝึกปฏิบัติการเรียนการสอน
      1.6.3    การประเมินคุณภาพ  หมายถึง  ข้อกำหนดที่ผู้เชี่ยวชาญใช้ในการประเมินคุณภาพของชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจีใน 2 ด้าน ได้แก่  1. ด้านการสร้างชุดฝึกปฏิบัติ  2.  ด้านการใช้งาน
      1.6.4    ผู้เชี่ยวชาญ  หมายถึง  ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในการตรวจสอบและติดตั้งระบบแก๊สแอลพีจีในรถยนต์  หรือผู้ที่มีประสบการณ์ด้านการสอนงานเครื่องยนต์มาแล้วอย่างน้อย 5 ปีขึ้นไป
      1.6.5   ใบความรู้  หมายถึง  เอกสารที่รวบรวมเนื้อหาสาระที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้ประกอบด้วยความรู้ทางด้านเทคนิคเฉพาะของเรื่องนั้น ๆ  เนื้อหาความรู้ทั่ว ๆ ไป และเนื้อหาที่เป็นความรู้เสริมตามรายละเอียดของหัวข้อเรื่องที่เรียน
      1.6.6  ใบงาน หมายถึง เอกสารที่กำหนดรายละเอียดของงานและลำดับขั้นการปฏิบัติงานตั้งแต่ขั้นแรกจนถึงขั้นสุดท้าย มีรายการเครื่องมือวัสดุอุปกรณ์ พร้อมทั้งคำแนะนำวิธีการปฏิบัติงานให้เกิดความปลอดภัย  
      1.6.7  ใบตรวจงาน  หมายถึง  เอกสารที่ใช้อ้างอิงสำหรับการตรวจสอบความถูกต้องของรายการคำถามที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้สำหรับการวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียน  
      1.6.8  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนหมายถึง ชุดข้อสอบเพื่อใช้ประเมินผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของผู้เรียนหลังจากสิ้นสุดการเรียนเครื่องยนต์ แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจี
      1.6.9  คุณภาพชุดฝึกปฏิบัติ หมายถึงข้อกำหนดที่ผู้เชี่ยวชาญใช้ในการประเมินคุณภาพของชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สแอลพีจีใน 3 ด้านคือ ด้านการออกแบบ  ด้านการใช้งาน และด้านเอกสารประกอบชุดฝึกปฏิบัติ
      1.6.10 ประสิทธิภาพของชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจี หมายถึง ผลลัพธ์ที่ได้จากการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
-  80 ตัวแรก หมายถึง ประสิทธิภาพของชุดฝึกปฏิบัติ คิดเป็นร้อยละจากคะแนนใบงานหลังการศึกษาจากใบเนื้อหาและสื่อการสอนและคะแนนจาก แบบประเมินผลการปฏิบัติงาน
-  80 ตัวหลัง  หมายถึง ประสิทธิภาพของชุดฝึกปฏิบัติ คิดเป็นร้อยละจากคะแนน ทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียน
      1.6.11 ผู้เชี่ยวชาญ หมายถึง ผู้ที่มีประสบการณ์ในการสอนวิชาเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบหัวฉีด  หรือผู้ที่มีความรู้ความสามารถการตรวจซ่อมเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบหัวฉีด มาแล้วอย่างน้อย 5 ปี สำหรับผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาโท หรือ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มีประสบการณ์สอนไม่น้อยกว่า 10 ปี

1.7   ประโยชน์จากผลการศึกษา
      1.7.1   ชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจี ที่สร้างขึ้นมีประโยชน์สำหรับการใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนภาคปฏิบัติ  รายวิชางานซ่อมเครื่องยนต์แก๊สโซลีน  ตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) พุทธศักราช 2546 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในเรื่องส่วนประกอบและทำงาน  การติดเครื่องยนต์  การตรวจสภาพเครื่องยนต์เพื่อวิเคราะห์ปัญหาก่อนซ่อม  การปรับแต่งเครื่องยนต์และการบำรุงรักษาเครื่องยนต์
      1.7.2   ผู้เรียนได้รับความรู้  เข้าใจหลักการทำงานของเครื่องยนต์ระบบฉีดที่ติดตั้งระบบเชื้อเพลิงแอลพีจีในรถยนต์เพิ่มมากขึ้น
      1.7.3   สามารถนำชุดฝึกปฏิบัติเครื่องยนต์แก๊สโซลีนระบบฉีดเชื้อเพลิงแอลพีจี  ไปเป็นสื่อประกอบในการจัดฝึกอบรมให้แก่ประชาชนและผู้ที่สนใจ

 

 

กลับหน้าแรก    2   3   4   5   6   7

Free Web Hosting